หนึ่งในอุปกรณ์ชิ้นสำคัญสำหรับเหล่าเกมเมอร์แล้ว คีย์บอร์ดนับเป็นอุปกรณ์ที่บ่งบอกถึงความเป็นตัวตนของเหล่าเกมเมอร์แต่ละคนได้ดี และวันนี้ผมจะพาเพื่อน ๆ ไปดูซิว่าเรามีวิธีการเลือกซื้อเกมมิ่งคีย์บอร์ดยังไง ให้โดนใจทั้งมือใหม่และมือเก๋าครับ
ยกให้เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการซื้อเกมมิ่งคีย์บอร์ดเลย ผมจะเล่าให้ฟังก่อนว่า ก่อนหน้านี้ผมเคยซื้อเกมมิ่งคีย์บอร์ดขนาดใหญ่ Full-size มาใช้ ปรากฏว่ามันกินพื้นที่โต๊ะค่อนข้างมาก ไม่สามารถวางถ้วยมาม่าตอนดูหนังได้ แถมจะเขียนรายงานต่าง ๆ ก็มีพื้นที่เหลือน้อยเกินไป
ผมพยายามแก้ปัญหาด้วยการย้ายคีย์บอร์ดไว้ที่ลิ้นชัก (ซึ่งมันทำออกมาสำหรับวางคีย์บอร์ดอยู่แล้วแหละ) แต่มันดันพิมพ์ไม่ถนัดเท่ากับวางบนโต๊ะนี่สิ แล้วเวลาเล่นเกมด้วยเวาส์บางทีมือมันไปติดคีย์บอร์ด ทำให้ควบคุมเมาส์ได้ไม่เต็มที่ สุดท้ายเลยตัดสินใจซื้อเกมมิ่งคีย์บอร์ดขนาดเล็กมาใช้แทน
ใช่แล้วครับ เพราะฉะนั้น เรื่องขนาดคือสิ่งสำคัญที่อยากให้ลองคิด ๆ กันไว้ก่อนซื้อ นอกจากเรื่องพื้นที่บนโต๊ะแล้วขนาดยังส่งผลเวลาพิมพ์หรือกดแป้น หากคีย์บอร์ดขนาดใหญ่เกินไปแล้วคีย์ที่ต้องกดเวลาเล่นเกมอยู่ห่างกันมาก อาจจะลำบากเวลาควบคุมด้วยมือเดียว เผลอไม่สามารถกดสองปุ่มได้ในเวลาเดียวกันเลยก็เป็นได้
สำหรับคีย์บอร์ดขนาดใหญ่ จะได้เปรียบในเรื่องของ Numpad เนื่องจากมีพื้นที่เพียงพอที่จะยัด Numpad รวมถึงปุ่มฟังก์ชันอื่น ๆ ลงไปได้ หากมีขนาดเล็กลงหน่อยอย่าง Tenkeyless หรือ TKL จะเป็นการตัด Numpad ออก เหลือแต่ปุ่มฟังก์ชันพวก Home, End, Page up, Page down อะไรประมาณนี้ไว้ใช้งานครับ จากที่เคยลองใช้พบว่ามันจะพิมพ์งานและกดแป้นควบคุมการเล่นเกมได้ง่ายกว่า เพราะความยาว (ตามแกน Y) ของคีย์บอร์ดจะพอดีกับความยาวของฝ่ามือผู้ชายครับ
หรือถ้าชอบไซส์มินิใส ๆ แบ๊ว ๆ อันนี้จะเน้นในเรื่องของแป้นตัวอักษรที่มีขนาดใหญ่กว่าหน่อย และกินพื้นที่โต๊ะน้อยที่สุดในนี้ น่าจะเหมาะกับคนที่ชอบสายมินิมอล อย่างผมเองก็ซื้อคีย์บอร์ดแนวนี้มาใช้เหมือนกัน เพราะไม่ต้องใช้ Numpad บ่อย ๆ
สรุปคือต้องประเมินพื้นที่บนโต๊ะก่อน จากนั้นค่อยพิจารณาเรื่องขนาดและความเหมาะมือ ถ้าเลือกแบบ Full-size จะกินพื้นที่มากที่สุด แต่ใช้งาน Numpad ได้สะดวกกว่า ในขณะที่ TKL และมินิจะเล็กลงมาตามลำดับ กด Numpad ยาก แต่ประหยัดพื้นที่และกดแป้นทั่วถึงมากกว่า
ปัจจัยถัดมาคือการเลือกประเภทของแป้นคีย์บอร์ด รูปแบบที่ได้รับความนิยมมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท คือ แบบแมคคานิคัล และแบบเมมเบรน สำหรับแป้นแบบแมคคานิคัลจะมีกลไกซ่อนอยู่ภายใน เวลากดแป้นกลไกนี้จะทำงานและเด้งกลับคืนสู่ตำแหน่งเดิม จึงให้ฟีลลิ่งในการกดและการตอบสนองที่ดีกว่า
ในขณะที่คีย์บอร์ดแบบเมมเบรน จะเป็นการกดแป้นลงบนแผ่นยางรูปโดม แล้วภายใต้แผ่นยางจะมีปุ่มนูนที่จะกดลงบนแผงวงจรอีกที เมื่อเราปล่อยนิ้วออกจากแป้น แผ่นยางจะคืนรูปโดมอีกครั้ง จะเห็นได้ว่ากลไกการทำงานของมันจะแตกต่างไปจากแบบแมคคานิคัล
จุดเด่นของคีย์บอร์ดแบบแมคคานิคัล หลัก ๆ เลยคือเรื่องฟีลลิ่งในการกดที่รับกับนิ้วมือมากกว่า เวลาพิมพ์งานหรือเล่นเกมผมบอกเลยว่ามันมือสุด ๆ ในขณะที่คีย์บอร์ดเมมเบรนจะได้เปรียบในเรื่องการกดแป้นที่เสียงเบากว่า และหลาย ๆ รุ่นจะกันน้ำได้ดีกว่า อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้ใช้นะครับ เพราะแบบแมคคานิคัลก็จะมีราคาแพงกว่าแบบเมมเบรนอยู่ในระดับหนึ่ง
สำหรับผู้ใช้งานคีย์บอร์ดแมคคานิคัล ตัวแป้นคีย์บอร์ดจะมีกลไกอยู่ภายในดังที่ผมกล่าวไว้ในข้อบน ซึ่งกลไกเหล่านี้นี่แหละที่ผู้ผลิตจะทำออกมาให้มีความแตกต่างกันตามความชอบของเกมเมอร์แต่ละคน ความแตกต่างมีได้ตั้งแต่ระยะการกดแป้น, เสียงของสวิตช์, แรงต้านในการกด และความรู้สึกของการกด
ในที่นี้ผมขอยกตัวอย่างสวิตช์ที่ใช้กันบ่อย ๆ คือ Cherry MX จะมีสีที่แตกต่างกันบ่งบอกรูปแบบของกลไกภายใน ซึ่งถ้าเป็นไปได้ก่อนเพื่อน ๆ จะซื้อ ผมแนะนำให้ไปลองกดสวิตช์เดโมที่ร้านก่อน ชอบแบบไหนจะได้เลือกของให้ถูกใจครับ
ข้อนี้ผมถือว่าเป็นความชอบส่วนบุคคลเลยละกัน บ่อยครั้งที่ผมแนะนำคีย์บอร์ดให้ลูกเพจ แต่เขาดันไปเลือกอีกอันที่มีอยู่ในใจแล้ว (แล้วถามผมทำไมเนี้ย) เหตุผลคือ เพราะสีมันเข้ากับเซตคอมของเขามากกว่า
ใช่แล้วครับ เรื่องความสวยงามและแมตช์กับเซต PC ของตนเองก็มีความสำคัญเหมือนกัน อันนี้คงต้องลองหาดูรีวิวกันหน่อยก่อนจะซื้อ เผื่อบางทีรูปในโฆษณากับของจริงมันจะมีสีสันที่ไม่เหมือนกัน (เหมือนสีน้ำเงินของ iPhone 12)
อีกเรื่องคือการออกแบบให้เข้ากับการใช้งาน ประมาณว่าความสะดวกในการกดแป้นต่าง ๆ จำนวนปุ่มมาโคร แม้กระทั่งแผ่นรองข้อมือ แต่ก่อนผมเคยใช้คีย์บอร์ดบ้าน ๆ ไม่มีแผ่นรองข้อมือ พอได้มารองใช้แบบมีแผ่นรองข้อมือ เห้ย !! ฟีลลิ่งดีมากเลย ยังไงก็ลองหาดูรีวิวกันนะครับ จะได้ฟังความเห็นจากรีวิวเวอร์ไว้เป็นข้อพิจารณา
ข้อนี้ผมก็อยากจัดไว้เป็นความชอบส่วนตัวละกัน เนื่องจากว่าคีย์บอร์ดแบบมีสาย จะไม่ค่อยพบปัญหาเรื่องความล่าช้าในการส่งผ่านข้อมูล (Input lag) ในขณะที่คีย์บอร์ดไร้สายจะมีความล่าช้าเยอะกว่า เนื่องจากมันเป็นการส่งสัญญาณผ่านบลูทูธ ต้องผ่านตัวกลางต่าง ๆ มากมาย ซึ่งค่าความล้าช้าในการส่งข้อมูลนี้จริง ๆ มันไม่สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่านะ แต่ในกลุ่มจริงจังเกมเมอร์ก็จะซีเรียสเรื่องนี้อยู่ โดยเฉพาะเกมแนว FPS
ผมไม่แน่ใจว่าเทคโนโลยีลด Input lag ของการ์ดจอ ทั้ง NVIDIA Reflex หรือ AMD Anti-Lag จะช่วยลดค่าความล่าช้านี้ได้แค่ไหน แต่ถ้าคุณไม่ซีเรียสเรื่องค่าความล่าช้าในระดับ Millisecond พวกอุปกรณ์ไร้สายก็น่าสนใจไม่น้อย เพราะไม่ต้องมีสายระโยงระยางเกะกะแต่อย่างใด
ผมพ่วงข้อนี้เอาไว้ด้วยกันเลย ราคาเป็นปัจจัยที่สำคัญในการเลือกซื้อคีย์บอร์ด ถ้าคุณมีเงิน 3,000 บาท ก็คงซื้อคีย์บอร์ดราคา 7,000 บาทไม่ได้ใช่ไหมล่ะ เพราะฉะนั้น ตัวเลือกในการซื้อก็จะเพิ่มลดตามงบประมาณที่มี
ส่วนเรื่องของแบรนด์อันนั้นจะเกี่ยวข้องกับชื่อเสียง, การรับประกัน และคุณภาพ ซึ่งต้องลองดูจากรีวิวต่าง ๆ หรืออ่านข้อมูลจากเอกสารที่ผู้ผลิตเตรียมไว้ให้ (เอกสารแบบละเอียดเลยนะ) รวมไปถึงเข้ากลุ่ม Extreme IT เพื่อสอบถามคุณภาพในการใช้งานก็ได้ (อิอิ) เพราะบางแบรนด์ที่มีชื่อเสียงเขาสามารถอัปราคาคีย์บอร์ดให้สูงขึ้นได้ แม้คุณภาพและฟีลลิ่งในการใช้งานอาจจะไม่ได้แตกต่างไปจากอีกแบรนด์เลยก็ได้ ซึ่งตรงนี้เป็นจุดที่ผู้ใช้ต้องนำไปพิจารณากันเองครับ
เอาล่ะทั้งหมดนี้น่าจะพอให้เพื่อน ๆ ได้ไอเดียในการเลือกซื้อคีย์บอร์ดแล้วล่ะ ส่วนใครมีคีย์บอร์ดรุ่นไหนที่ตนเองใช้ สามารถแนะนำกันได้ในคอมเมนต์เลยนะครับ
Post a Comment